ค้นพบเรื่องราวเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์แห่งการมีอายุที่ยืนยาวจากผู้เชี่ยวชาญของเรา สร้างสรรค์โดย ROAR Forward ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างผู้นำทางความคิดเกี่ยวกับการมีอายุที่ยืนยาวและคอนเทนต์ครีเอเตอร์
เป็นเวลาหลายร้อยหลายพันปีแล้วที่ผู้คนพยายามค้นหาวิธีที่จะทำให้ชีวิตยืนยาวยิ่งขึ้น และตลอดระยะเวลากว่าร้อยปีที่ผ่านมา ผลจากการแพทย์สมัยใหม่และไลฟ์สไตล์ที่ดีขึ้นได้ช่วยยืดอายุขัยของเราให้ยืนยาวขึ้นประมาณ 20 ปี โดยในปี ค.ศ. 1929 อายุขัยเฉลี่ยของชาวอเมริกันอยู่ที่ 57 ปี ขณะที่ในปัจจุบันอยู่ที่ 78 ปี
ทว่าการมีอายุที่ยืนยาวไม่ได้เป็นเพียงเป้าหมายเดียวของเรา เพราะอายุที่ยืนยาวหรือ "อายุขัย" ของคุณควรดำเนินไปพร้อมกับ "อายุขัยที่มีสุขภาพสมบูรณ์" อายุขัยที่มีสุขภาพสมบูรณ์คือช่วงเวลาที่คุณใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี ปราศจากโรคภัย กระฉับกระเฉง และมีความพึงพอใจในชีวิต เพราะเป้าหมายของเราไม่ใช่เพียงแค่การมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นเท่านั้น...แต่คือการมีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพ
DR. MARK LACHS, Co-Director ของ Center of Aging Research & Clinical Care ที่ Weill Cornell Medicine กล่าวว่า “ในฐานะแพทย์ ผมปรารถนาให้คุณได้ทำสิ่งต่างๆ ที่คุณอยากทำให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ดังนั้นการมีอายุยืนยาวไม่ใช่เพียงแค่เพิ่มอายุขัยของคุณให้ยาวนานขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการต่ออายุเพื่อให้คุณได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้เต็มที่”
Lachs อธิบายว่า ความชราไม่ใช่ “โรค” แต่เป็น “สภาวะ” ที่เราทุกคนต้องเผชิญ ความชราจะพาคุณไปสู่การมีอายุที่ยืนยาวหากคุณปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง (และบวกกับมีโชคอีกนิดหน่อย) และการจะบรรลุเป้าหมายของการมีอายุยืนยาวเปี่ยมพลังและชีวิตชีวาได้นั้น ล้วนต้องเริ่มจากพฤติกรรมต่างๆ ที่คุณทำในวันนี้ที่จะส่งผลต่ออายุขัยและอายุขัยที่มีสุขภาพสมบูรณ์ของตัวคุณเอง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านั้นมีทั้งการรับประทานที่มีประโยชน์ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำทุกวัน การใช้เวลากับครอบครัวหรือชุมชน รวมทั้งการดูแลสุขภาพจิตของตัวเองอยู่เสมอ
“ตอนที่ผมเรียนจบจากโรงเรียนแพทย์ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 มีคนบอกผมว่าอายุคาดเฉลี่ยและคุณภาพชีวิตของผู้คนหลักๆ แล้วเป็นผลมาจากพันธุกรรม” Lachs กล่าว “แต่จริงๆ แล้วมันอาจจะตรงข้ามกันเลย เพราะแม้ว่าสำหรับบางคนพันธุกรรมจะมีบทบาทสำคัญต่อการมีอายุยืนยาว แต่โดยมากแล้วสภาพแวดล้อมและสิ่งที่คุณทำเป็นกิจวัตรต่างหากที่มีผลต่ออายุขัยและอายุขัยที่มีสุขภาพสมบูรณ์มากกว่าพันธุกรรมเสียอีก”
เขายังเสริมว่า “การดำเนินชีวิต การออกกำลังกาย พฤติกรรมการใช้ชีวิต และการเข้าสังคมของเราล้วนส่งผลกระทบทั้งต่อภาวะนอกเหนือจากพันธุกรรม (epigenetics) อายุขัย รวมไปถึงสุขภาพกายและใจของเราเมื่ออายุมากขึ้น”
คนส่วนมากมักคิดว่าจะเริ่มใช้ชีวิตแบบใส่ใจสุขภาพเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่ความจริงแล้ว เรามักจะไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตัวเองจนกระทั่งเริ่มมองเห็นสัญญาณแห่งความร่วงโรยหรือได้รับสัญญาณเตือนเกี่ยวกับสุขภาพ ดังนั้นเราจึงควรเริ่มดูแลเอาใจใส่พฤติกรรมการใช้ชีวิตทั้งทางร่างกาย สุขภาพจิตและอารมณ์ของตนเองโดยเร็ว เพราะยิ่งเริ่มเร็วเท่าไหร่ สิ่งดีๆ ที่สะสมไว้จะยิ่งส่งผลดีแบบทวีคูณ
ควบคุมชีวิตและอายุขัยด้วยตัวคุณเอง
โดยทั่วไปในวงการแพทย์ยอมรับว่าคนรุ่นใหม่ (Gen Z และ Gen Alpha) จะมีอายุยืนยาวขึ้นและอายุขัยที่สุขภาพสมบูรณ์ก็ยาวนานขึ้นด้วย นอกจากนี้ผู้ที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้นจะมีโอกาสถึง 30% ที่จะมีอายุยืนยาวถึง 100 ปี
แล้วพวกเราล่ะ
แม้คำว่า “ปาฏิหาริย์” จะเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ดีและผ่านการทดลองแล้วว่าได้ผลต่างหากที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การดูแลผิวพรรณ การใส่ใจความเป็นไปของโลกผ่านอาชีพการงาน การเรียนรู้ตลอดชีวิต การทำตามความฝัน การออกกำลังกายและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมไปถึงการดูแลสุขภาพจิตและอารมณ์ของตัวเองอยู่เสมอ นอกจากนี้ ดร. Lachs ยังเสริมว่า เราควรให้ความสำคัญและใส่ใจความสัมพันธ์ที่มีในชีวิต เพราะ “ความอ้างว้างโดดเดี่ยวอาจทำให้ชีวิตของคุณสั้นลง ขณะที่การมีความสัมพันธ์ที่ดีและการมีส่วนร่วมกับชุมชนสามารถยืดอายุของคุณให้ยาวนานออกไปอีกหลายปี” ดร. Lachs ยังย้ำด้วยว่า การจะมีอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพได้นั้นจะหวังเพียงยาวิเศษอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีความพยายามและการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมด้วย “หมอคนแรกของคุณก็คือ ตัวคุณเอง ดังนั้นจงใส่ใจดูแลสุขภาพและสุขภาวะของตนเองให้ดีอยู่เสมอ”